ระบบ MOE Safty Center

การใช้งานสำหรับผู้แจ้งเหตุในระบบ MOE Safty Center

เมื่อเกิดเหตุความไม่ปลอดภัย จะแจ้งช่องทางไหนดี?

การรับเรื่องแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษา ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ทำให้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีและ Social Media เข้ามาช่วยดำเนินการ โดยสามารถแจ้งเหตุได้ง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

  1. ทางเว็บไซต์ www.MOEsafetycenter.com เพียงลงทะเบียนยืนยันตัวตนในครั้งแรกเท่านั้น ก็สามารถใช้งานเพื่อแจ้งเหตุได้ตลอดเวลา
  2. ทางไลน์ @MOESafetyCenter ก็ง่ายและสะดวก เพียงแค่สแกนคิวอาร์โค้ด กดแอดไลน์เพิ่มเพื่อน เท่านี้ก็สามารถใช้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการแจ้งเหตุที่ง่ายและสะดวก เพราะนี่คือ Social ที่เราใช้เป็นประจำนั่นเอง
  3. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น MOE Safety Center ใน PlayStore สำหรับแอนดรอยด์ได้ตั้งแต่ 1 ธันวาคม หรือในระบบ IOS ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 ก็ได้เช่นเดียวกัน
  4. สุดท้ายหากไม่ค่อยใช้งานทางออนไลน์ ก็ยังมีเบอร์โทรให้สามารถแจ้งเหตุได้ เพียงแค่โทรไปที่ 02-126-6565 ก็จะมีคนคอยรับเรื่อง แล้วบันทึกเข้าสู่ระบบความปลอดภัยสถานศึกษา ส่งไปยังโรงเรียนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เช่นกัน

นี่คือทั้ง 4 ช่องทางที่เราสามารถแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษาได้ง่าย ๆ ช่วยกันเป็นหูเป็นตา เพื่อให้ทุกคนปลอดภัย แต่ขอความร่วมมืออย่าแจ้งเรื่องเท็จ เพราะระบบจะบันทึกทุกเรื่องที่แจ้งเข้ามาแล้วสามารถตรวจสอบกลับได้ หากพบว่าเท็จ ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฐานการทำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อีกด้วย เครดิตที่ดีในการช่วยสร้างความปลอดภัย ก็จะมีในฐานข้อมูลของทุกคนที่ใช้งานนั่นเอง….ด้วยรักและห่วงใย MOE Safety Center

นักเรียนสมัครใช้งานแจ้งเหตุเข้าระบบ MOE Safety Center ต้องทำยังไง

การสมัครให้นักเรียนใช้งาน MOE Safety Center  สามารถเข้าระบบได้ 2 ช่องทาง

1.www.moesafetycenter.com

2.Application:  MOESafetyCenter

จากนั้นสมัครตามขั้นตอนโดยใช้ email ของนักเรียนสมัคร หากนักเรียนยังไม่มี  email ก็สามารถสมัครใหม่ได้ทันที (ขอแนะนำให้เป็น @gmail.com เนื่องจากเป็นระบบเดียวกับ Platform MOE Safety Center)  สิ่งสำคัญเพื่อเชื่อมข้อมูลของนักเรียนกับสถานศึกษา สิ่งที่ควรรู้ก่อนสมัครคือ รหัสบัตรประจำตัวประชาชนของนักเรียน และ รหัส 10 หลักของโรงเรียนและเมื่อสมัครเสร็จแล้ว การแจ้งเหตุของนักเรียนแต่ละคน ก็จะสามารถเก็บข้อมูลอันเป็นประโยชน์ในการสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษานั้น ๆ ได้ทันที

 

เราสามารถแจ้งเรื่องอะไรได้บ้าง?

ตามชื่อศูนย์ที่เรียกว่า MOE Safety Center : ศูนย์ความปลอดภัยสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ  ศูนย์นี้ก็จะรับแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยในด้านต่าง ๆ โดยแยกความไม่ปลอดภัยออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่

  1. ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุในสถานศึกษา(Accident)  เช่น เรื่องของอาคาร สถานที่ การเดินทางไปยังโรงเรียน ภัยจากเครื่องมือและอุปกรณ์ หรือแม้กระทั่ง จุดที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุ ก็แจ้งได้หมด เพื่อช่วยเป็นหูเป็นตา จนนำไปสู่การแก้ไขให้เกิดสถานศึกษาปลอดภัย
  2. ภัยที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงของมนุษย์(Violence) อันเป็นความรุนแรงที่เกิดกับตัวเองและผู้อื่นในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงการล่วงละเมิดต่าง ๆ ที่ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเกิดระหว่างนักเรียนกับนักเรียน หรือ นักเรียนกับผู้ใหญ่ก็ตาม
  3. ภัยที่เกิดจากผลกระทบต่อสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจ(Unhealthiness) เช่น โรคระบาดและความไม่ปลอดภัยด้านสาธารณสุข ภาวะทุพโภชนการ อาหารการกิน ปัญหาด้านยาเสพติด หรือเหตุการณ์ผิดปกติที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยก็แจ้งได้
  4. ภัยที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ(Right) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิและเสรีภาพในการเรียน ที่นักเรียนอยากร้องเรียนถึงความไม่เป็นธรรมจากระบบการศึกษา เพื่อหาทางออกกับเรื่องเหล่านั้น

โดยทั้ง 4 กลุ่มความไม่ปลอดภัย จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาโดยผู้รับผิดชอบในแต่ละกรณีตามที่สถานศึกษาให้รับมอบหมาย และหน่วยงานต้นสังกัดก็จะเห็นปัญหาและการแก้ไขเหล่านั้นได้อีกทางด้วย เพื่อให้มั่นใจว่า การแก้ไขปัญหาทุกด้านจะนำไปสู่มาตรฐานความปลอดภัยในสถานศึกษาที่ดียิ่งขึ้นเพื่อทุกคน

หากต้องการแก้ไข เปลี่ยนแปลงข้อมูลที่แจ้งไปแล้วต้องทำอย่างไร?

ระบบ MOE Safety Center เป็นระบบที่มีความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล จัดเก็บข้อมูลตามช่วงเวลาที่ทำการบันทึกไว้ และมีระบบป้องกันการเข้าถึงข้อมูลจากบุคคลภายนอก อีกทั้งเป็นระบบที่ไม่สามารถที่จะลบข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้แล้วได้ การที่ไม่สามารถลบข้อมูลที่บันทึกไว้ได้ นอกจากจะเพิ่มความระมัดระวังในการใช้งานจากระบบไม่ว่าจะเป็นฝั่งผู้แจ้งเอง ก็จะแจ้งด้วยเนื้อหาสาระที่ถูกต้องและเป็นเรื่องจริง เพราะจะถูกบันทึกไว้ในระบบ โดยที่ลบไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่แจ้งเรื่องเข้ามาหรือคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ที่สรุปเรื่องนั้นๆก็ตาม

เมื่อไรก็ตาม ที่มีการดำเนินการใดๆแล้วบันทึกเข้าไปในระบบ ข้อมูลทุกอย่างจะถูกทำเป็นไทม์ไลน์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งคนแจ้งเหตุ เจ้าหน้าที่ SC ที่สรุปเรื่องราวหรือเจ้าหน้าที่ Operator ที่ดำเนินการ ก็ไม่สามารถลบเรื่องนั้นออกจากระบบ

ถ้าต้องการแก้ไขข้อมูล ก็สามารถทำได้โดยการให้ข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไปในระบบและแจ้งว่าข้อมูลที่ให้ไว้ก่อนหน้ามีความผิดพลาดประการใด โดยสามารถใส่รายละเอียดเพิ่มเติมลงไปในเนื้อหาเหล่านั้นได้ หากมีข้อมูลใหม่ที่อัปเดตกว่าเดิม ก็สามารถเพิ่มเติมเข้าสู่ระบบ MOE Safety Center เพื่อแจ้งสิ่งที่ถูกต้องเป็นปัจจุบันนั่นเอง

แล้วเมื่อมีการมาตรวจสอบหรือติดตามเนื้อหานั้นๆ ก็จะเห็นเลยว่า การให้ข้อมูลไทม์ไลน์เหล่านี้ จะเป็นการช่วยป้องกันการปลอมแปลงหรือการเปลี่ยนแปลง เพื่อทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ถูกละเลยหรือถูกดัดแปลงไป สามารถนำหลักฐานส่วนนี้ในการชี้แจงเพื่อการดำเนินการให้เป็นไปอย่างถูกต้อง

หากเกิดเหตุการณ์ระหว่างนักเรียน 2 สถาบัน  หากต้องการแจ้งเหตุ จะแจ้งที่สถานบันไหนดี?

เรื่องการทะเลาะวิวาทของนักเรียนหรือนักศึกษา หากเกิดขึ้นในสถานศึกษาก็สามารถแจ้งเรื่องได้ตามปกติ  แต่หากเกิดขึ้นนอกสถานศึกษา แล้วเป็นกรณีการทะเลาะวิวาทกันของนักเรียน นักศึกษามากกว่า 1 สถาบันขึ้นไป ผู้เห็นเหตุการณ์หรือเพื่อนนักเรียนก็สามารถแจ้งเหตุเข้าไปยัง MOE Safety Center ได้เช่นกัน

โดยการแจ้งนั้น ให้เลือกสถานที่เกิดเหตุระบุตำแหน่งผ่านทาง GPS ที่ระบุจุดให้ หรือเราเลือกตำแหน่งในแผนที่ได้เลย แล้วหลังจากนั้นระบบก็จะค้นหาสถานศึกษาในระแวกใกล้เคียง โชว์ขึ้นมาใน Platform ซึ่งผู้แจ้งสามารถเลือกสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเหตุนั้น ๆ ได้มากกว่า 1 แห่ง โดยการแจ้งเพียงครั้งเดียว และระบบจะส่งการแจ้งเหตุเข้าไปยังสถานศึกษาแต่ละแห่งตามที่แจ้ง โดยแยกเหตุการณ์ที่แจ้งออกเป็นแต่ละเคสของสถาบันการศึกษา

เมื่อสถานศึกษาแต่ละแห่ง มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา และได้บันทึกการแก้ไขเข้าสู่ระบบ ผู้แจ้งเหตุก็จะสามารถรับรู้ได้ผ่านการแจ้งเตือนทางแอปพลิเคขั่น

MOE Safety Center ในทุกการอัพเดทของทุกสถานศึกษา เพื่อให้รู้ว่าสถานศึกษาแต่ละแห่งมีการดำเนินการเพื่อนำไปสู่ความปลอดภัยแก่นักเรียน นักศึกษาอย่างไร จนกว่ากรณีนั้น ๆ จะดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ และได้รับการแจ้งปิดเคสนั่นเอง

ถ้าเรื่องที่แจ้งไป สถานศึกษาไม่มีการดำเนินการแก้ไขต้องทำยังไง?

เรื่องนี้ไม่ต้องห่วงเลยค่ะ กรณีหากแจ้งเรื่องไปแล้ว ไม่มีการดำเนินการใด ๆ Platform MOE Safety Center จะมีการกำหนดระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาที่แจ้ง โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่สถาศึกษาได้มีการกำหนดไว้บน Platform และหากสถานศึกษาไม่แก้ไขปัญหาความปลอดภัยหรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตามกำหนดเวลาที่แจ้งไว้ ระบบก็จะมีการแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานบังคับบัญชาอีกทางหนึ่ง

และหากการแก้ไขปัญหาปลอดภัย ถูกแก้ไขจนสิ้นสุดกระบวนการ ทาง SC ของสถานศึกษาทำการปิดเคส ระบบก็จะทำการบันทึกสถิติของเหตุการณ์นั้น ๆ ว่าเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่สถานศึกษาไม่ได้แก้ไขปัญหาหรือใช้เวลาในการแก้ไขล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งจะมีสัญลักษณ์ระบุความล่าช้า เพื่อให้ทางต้นสังกัดหรือศูนย์ความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการรับทราบ พร้อมถูกบันทึกในระบบตามความเป็นจริงในการเข้าถึงหรือตรวจสอบได้ง่าย

แต่หากการแก้ไขเหตุการณ์นั้น ยังไม่เป็นที่พึงพอใจของผู้แจ้งเหตุ ในแง่ของผลลัพธ์ที่ออกมา ผู้แจ้งก็สามารถ Re-Open case นั้น ๆ ได้ ซึ่ง Platform MOE Safety Center จะส่งเหตุที่แจ้ง ขึ้นไปยังหน่วยงานต้นสังกัดที่สูงขึ้นไปอีก 1 ลำดับชั้น เพื่อให้ทราบเรื่องที่แจ้งและช่วยดำเนินการแก้ไขเหตุการณ์นั้น ๆ ต่อไป

ดังนั้น ไม่ต้องห่วงเลยว่า เรื่องที่แจ้งไป จะไม่ได้รับการดูแลแก้ไข เพราะระบบจะส่งไปถึงหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งสุดท้ายกระทรวงศึกษาก็จะรับทราบรายละเอียดทั้งหมดโดยอัตโนมัติ และจะดำเนินการหาข้อสรุปของแต่ละเหตุการณ์ที่เป็นธรรมได้อย่างแน่นอน

หลังจากเหตุการณ์ที่แจ้ง ผู้รับผิดชอบแจ้งปิดเคสเรียบร้อย แล้วเราต้องทำอะไรต่อหรือไม่?

หากเราในฐานะผู้แจ้งเหตุ  ไม่ว่าจะช่องทางไหนก็ตาม สามารถติดตามการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในระบบ MOE Safety Center แล้วเมื่อผู้รับผิดชอบเคสนั้น ๆ สรุปผลการดำเนินการเรียบร้อย โดยกรณีการรับแจ้งการปิดเคส สามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณีหลัก

กรณีแรก หากมีความพึงพอใจในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ในการให้ความเป็นธรรมและแก้ไขปัญหาความปลอดภัย ก็สามารถให้คะแนนความพึงพอใจในการทำหน้าที่ของผู้รับผิดชอบและให้คำแนะนำเพิ่มเติมหรือคำขอบคุณที่ช่วยดำเนินการให้เกิดความปลอดภัยสถานศึกษาเพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่

และเมื่อผลลัพธ์ที่ออกมาในการแก้ไขปัญหานั้นตรงกับความคาดหวังไว้ตั้งแต่ตอนแจ้งเหตุการณ์ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทิศทางในการแก้ไขปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหานั้นไปในทิศทางเดียวกัน แต่หากผลลัพธ์ที่ออกมาในการปิดเคสนั้น ไม่ได้ตรงกับสิ่งที่แจ้งความประสงค์ไว้ก่อนหน้า ก็อยากให้สังเกตถึงข้อจำกัดการดำเนินการว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในการทำให้ตรงกับความต้องการที่ท่านแจ้งไว้

แต่หากผู้แจ้งรู้สึกว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือท่านแจ้งไปยังไม่ได้รับการแก้ไข เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในสถานศึกษา ท่านก็สามารถดำเนินการอีกวิธีการหนึ่งได้ คือ การอุธรณ์หรือ Re-open case และการอุทรณ์ในครั้งนี้ ผู้ที่จะรับหน้าที่ในการดูแลกรณีที่เกิดขึ้นนั้น จะไม่ใช่หน่วยงานที่ดูแลก่อนหน้า แต่จะเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษานั้น ๆ ขอให้ท่านมั่นใจได้เลยว่า การพิจารณาแก้ไขปัญหานั้น หากมาถึงจุดสุดท้ายที่ไม่สามารถอุธรณ์ได้ ก็เปรียบเสมือน การฟ้องร้องดำเนินคดี แล้วมีผู้พิพากษาฏีกาเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด คนสุดท้าย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยนั้นจบลงได้อย่างเป็นธรรม

ผู้ปกครองสามารถใช้งานเพื่อแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษาได้หรือไม่?

หากผู้ปกครองต้องการใช้งาน MOE Safety Center ก็สามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะช่องทางใดก็ตาม ทั้งเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือไลน์แอดส์ โดยเบื้องต้น ผู้ปกครองต้องทำการลงทะเบียนในระบบ MOE Safety Center ตามขั้นตอน และหากมีความสัมพันธ์กับบุตรหลาน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับบุตรหลานและสถานศึกษาที่เรียนอยู่นั้น ในช่วงลงทะเบียนก็ต้องใส่ความเชื่อมโยงกับนักเรียนหรือนักศึกษาเอาไว้ด้วย โดยใช้ข้อมูลของบุตรหลานและรหัสโรงเรียน ในช่วงการลงทะเบียน แล้วเมื่อต้องการใช้งานแจ้งเหตุในแต่ละครั้ง ระบบก็จะทราบได้ทันทีว่าผู้ปกครอง ต้องการแจ้งเรื่องไปที่สถานศึกษาใด ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการแจ้งเหตุ และสามารถติดตามการแก้ไขเหตุการณ์นั้น ๆ ได้เหมือนกับบุตรหลาน ที่แจ้งเข้ามาด้วยตนเอง

แต่หากผู้ปกครองไม่ได้ทำการลงทะเบียนเชื่อมโยงกับนักเรียนไว้ ขณะที่ต้องการแจ้งเหตุก็อาจจะไม่สามารถระบุตัวตนและความน่าเชื่อถือ รวมทั้งต้องกรอกรายละเอียดซ้ำ ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยาก เสียเวลาในการใช้งานมากกว่าผู้อื่น และอาจจะถูกระบุผู้แจ้งว่าเป็นประชาชนทั่วไป ที่ต้องการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยที่เห็นนั่นเอง

ไม่เพียงแต่นักเรียน ครู หรือบุคลากรเท่านั้น แต่ผู้ปกครองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้น เพื่อให้บุตรหลานของท่านเกิดความปลอดภัยในสถานศึกษา

นักเรียนแจ้งเล่น ๆ เข้าสู่ระบบ จะเกิดอะไรขึ้น

ในช่วงแรกของการใช้งาน คงจะเป็นเรื่องที่พอจะยอมรับได้ แต่สิ่งสำคัญ ทางสถานศึกษาต้องทำความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานให้ชัดเจน ว่าระบบ MOE Safety Center ควรใช้งานเมื่อใด อย่างไร โดยเน้นไปที่การแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษา หรือแจ้งเหตุเตือนล่วงหน้าก่อนจะเกิดความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษา หรือจะเกิดควมไม่ปลอดภัยกับนักเรียน นักศึกษา ก็สามารถแจ้งเข้าระบบได้ เพื่อให้ผู้รับผิดชอบในสถานศึกษาช่วยกันดูแล

แต่หากใช้งานไปสักระยะนึง หากเกิดปัญหาการแจ้งเล่น หรือการแจ้งเท็จ ก็จะนำไปสู่ประเด็นเรื่อง การนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งในทางกฎหมายแล้ว ถือว่าเป็นความผิด และสามารถนำไปสู่การลงดทษทางกฎหมายได้ต่อไป

ดังนั้นทางสถานศึกษา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะประชาสัมพันธ์ให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับทั้ง ครู เจ้าหน้าที่ทางการศึกษา นักเรียน และพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่สามารถใช้งานระบบ MOE Safety Center ได้นั่นเอง

หมดปัญหา ปลอดภัยขึ้น เพียงแค่มี MOE Safety Center

หลายเรื่อง หลายกรณี ที่เกิดปัญหา จนนำไปสู่ความไม่ปลอดภัยทั้งทางกาย และจิตใจ ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน สร้างความไม่เท่าเทียมกัน ทั้งความเจ็บปวดและความไม่เป็นธรรมของนักเรียน ซึ่งในอดีตแจ้งเรื่องไปแล้ว แต่ไม่เป็นผลหรือไม่รู้เลยว่าเรื่องนั้นจะถูกจัดการแก้ไขเมื่อไหร่และอย่างไร หากเรื่องนั้นเกี่ยวกับผู้บริหารสถานศึกษาด้วยแล้ว…จะไปปรึกษาใครหรือต้องไปแจ้งที่กระทรวง เราควรทำยังไงดี

ปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไข จากนี้นักเรียนในสถานศึกษาภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จะสามารถแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา ที่ทำให้รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย ทั้งกับตัวเรา หรือกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน หรือแม้กระทั่งเกิดความไม่ปลอดภัย กับครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ผ่านทาง Platform ของ MOE Safety Center

แจ้งได้สะดวก รวดเร็ว มีหลักฐานยืนยัน มีเวลาบันทึกชัดเจน ที่สำคัญเมื่อแจ้งเรื่องแล้ว จะมีคนคอยรับเรื่อง และดำเนินการจนนำไปสู่การหาทางออกให้กับปัญหานั้น ๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในสถานศึกษากับทุกคน

ที่มา: คลิปวีดีโอการใช้งานสำหรับผู้แจ้งเหตุ ในระบบ MOE Safty Center